321908 จำนวนผู้เข้าชม |
สนใจหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Click
ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ช่วงสาระน่ารู้กับคุณหมอพลอยใสค่ะ เชื่อว่าหลายๆท่าน น่าจะรู้จักกันดีกับน้ำมันปลา แต่วันนี้พลอยจะมาชวนทุกๆคน มาทำความรู้จักแล้วก็มาฟังคุณประโยชน์ของน้ำมันปลาให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นค่ะ
น้ำมันปลาจะประกอบไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายของเรา ไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นได้เอง แต่ต้องอาศัยการรับประทานเข้าไปเพียงเท่านั้น ส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่สำคัญ ก็จะประกอบไปด้วย
- กรด Eicosapentaenoic Acid หรือ EPA
- กรด DocosaHexaenoic Acid หรือ DHA ซึ่งจะได้จากกลุ่มไขมันจากปลา
โดยแหล่งที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ที่เรารู้จักแล้วก็คุ้นเคยกันดี นั่นก็คือปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก อย่างปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาแฮริ่งหรือ ปลาแอนโชวี่ นอกจากนี้ท่านที่ทานมังสวิรัติ ก็ยังสามารถที่จะหาโอเมก้า 3 จากพืชรับประทานได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดแฟล็กซ์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง หรือวอลนัท
ในส่วนของน้ำมันปลาที่สกัดออกมา ก็จะเป็นการสกัดที่ได้จากในส่วนของเนื้อปลา หัวปลาและก็หางของปลา ส่วนที่ดีที่สุด ก็ควรจะเป็นในส่วนของเนื้อปลา
มาดูกันว่า คุณประโยชน์ของโอเมก้า 3 ในน้ำมันปลามีอะไรบ้าง โดยคุณสมบัติของ โอเมก้า 3 ก็จะมีส่วนที่จะเข้าไปช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยผ่านการทำหน้าที่ของ EPA จะเข้าไปทำงานโดยการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายของเรา ซึ่งไตรกลีเซอไรด์นี้ เป็นตัวการร้ายสำคัญที่เมื่อไหร่มีการสะสมในร่างกายมากจนเกินไป ก็จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันได้
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ยังพบอีกว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 สามารถที่จะช่วยลดระดับปริมาณไตรกลีเซอไรด์ได้สูงถึง 20 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีความปลอดภัยและยังสามารถที่จะรับประทานร่วมกับยาลดไขมันได้ด้วย
ซึ่งก็จะไปสอดคล้อง เพราะว่ามีการศึกษาคุณประโยชน์จากการรับประทานน้ำมันปลาเสริมในผู้ที่เป็นไขมันในเลือดสูง โดยการศึกษานี้นะคะเป็นของทาง ศูนย์ Complementary Research ของทางมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ที่ออสเตรเลีย ได้ทำการรวบรวมงานวิจัยมากกว่า 47 งานวิจัยมาทำการทบทวน และแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลามีผลเข้าไปทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางคลินิกและปริมาณของ HDL เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ EPA ยังไปมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัวได้ดีมากยิ่งขึ้น จึงมีส่วนที่จะเข้าไปช่วยลดระดับความดันเลือด ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และทำให้การไหลเวียนของโลหิตไหลเวียนได้ดีมากยิ่งขึ้น
EPA ยังมีส่วนสำคัญที่จะเข้าไปช่วยต้านการอักเสบ เพราะ EPA ยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ ของสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่มีหน้าที่ในการต้านการอักเสบ จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่เกิดจากการอักเสบได้อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งก็จะไปสอดคล้อง กับงานวิจัยของทางภาควิชาโรคข้อและภูมิคุ้มกันวิทยา ของโรงพยาบาลบิ๊กแฮมและสตรีที่บอสตันสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพของน้ำมันปลากับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์กับงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ถึง 7 งานวิจัย
และงานวิจัยที่มีการทดลองเพิ่มเติมอีก 3 ครั้งในกลุ่มผู้จำนวน 395 รายแสดงให้เห็นว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาเสริมเป็นระยะเวลา 3 เดือน สามารถที่จะช่วยลดอาการอักเสบของข้อต่อ และลดความฝืดของข้อต่อได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับในส่วนของปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน สำหรับคนที่ต้องการรับประทานน้ำมันปลาเพื่อที่จะเข้าไปช่วยดูแลสุขภาพทั่วไปแนะนำให้รับประทานอยู่ที่ปริมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน และสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเลือดสูง ค่าระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงแนะนำให้รับประทานในปริมาณ 2000-4000 มิลลิกรัมต่อวัน
และเนื่องจากในน้ำมันปลา มีส่วนที่จะเข้าไปยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และอาจจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายสำหรับผู้ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาที่ไปมีผลต่อการจับตัวของเกล็ดเลือด เพื่อความปลอดภัย เราจะไม่แนะนำให้รับประทานค่ะ รวมถึงผู้ที่มีแผนที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด แนะนำหยุดรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันตราอย่างน้อย 7-14 วันก่อนที่จะเข้ารับการรักษา
ในการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในกลุ่มของน้ำมันปลาหรือกลุ่มโอเมกา 3 เราควรที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้สารสำคัญที่ตรงกับความต้องการของเราเป็นหลัก ทำได้ง่ายๆเลยนะคะ เพียงแค่พลิกดูข้างฉลากค่ะ
- สำหรับกลุ่มที่ต้องการการดูแลในเรื่องของหลอดเลือดหัวใจและเข้าไปช่วยลดเกี่ยวกับกลุ่มอาการอักเสบ แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ค่า EPA เป็นหลัก
- ส่วนกลุ่มเด็กสตรีที่ตั้งครรภ์หญิงให้นมบุตรหรือกลุ่มที่ต้องการอยากจะดูแลในเรื่องของสมองและดวงตา แนะนำให้ลองหาผลิตภัณฑ์ที่ให้ค่า DHA เป็นหลัก
ข้อมูลดีๆ วันนี้ที่พลอยนำมาฝากทุกๆคนน่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายๆ คนมากเลยใช่ไหมล่ะคะ สำหรับใครที่ต้องการที่จะหากลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันปลามารับประทานเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ก็อย่าลืมที่จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ แพทย์หรือเภสัชกรก่อนที่จะตัดสินใจที่จะรับประทานเข้าไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าใครฟังวีดีโอนี้แล้วนะคะมีข้อคิดเห็นอยากจะแลกเปลี่ยนกัน ก็สามารถที่จะ comment ใต้วีดีโอด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ หรือถ้าใครสนใจอยากจะเข้ามาขอคำปรึกษากับทีมเภสัชของเรา ก็สามารถที่จะติดต่อมาได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ สำหรับวันนี้นะคะ ก็หมดเวลาไปแล้วนะคะกับช่วงสาระน่ารู้ดีๆ กับคุณหมอพลอยใส เดี๋ยวเอาไว้พบกันใหม่วิดีโอต่อไปสำหรับวันนี้ ขอขอบคุณมากเลยค่ะ สวัสดีค่ะ